การอยู่ค่ายพักแรม เมื่อถึงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ ก็จะเป็นเทศกาล การเข้าค่ายพักแรมของลูกเสือ-เนตรนารี ของโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี วันนี้เรามาศึกษาในเรื่องการอยู่ค่ายพักแรมของลูกเสือ-เนตรนารีกันดีกว่า เพื่อเราจะได้มีความรู้ สามารถเข้าค่ายพักแรมด้วยความเข้าใจ สามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง อยู่ในค่ายพักแรมอย่างปลอดภัย และมีความสุข จุดประสงค์ของการอยู่ค่ายพักแรม 1. เป็นการเรียนด้วยการกระทำ ดังนั้นงานภาคปฏิบัติจึงเป็นหัวใจของการฝึก ความรอบรู้ของผู้บังคับบัญชาฯ ความพร้อมของอุปกรณ์การฝึก และสิ่งอำนวยความสะดวก จะต้องเตรียมล่วงหน้า ตลอดเวลา อย่างเพียงพอ 2. ผู้บังคับบัญชาฯ ต้องเลือกประเภทและชนิดการอยู่ค่ายพักแรม ให้สนองความต้องการ ความสามารถ เพศและวัยของผู้เรียน ในแต่ระดับชั้น แต่ละประเภท 3. ผู้บังคับบัญชาฯ ต้องอยู่อย่างใกล้ชิดกับลูกเสือ-เนตรนารี เพื่อสังเกตความก้าวหน้า และการปฏิบัติกิจกรรม ให้บรรลุตามจุดประสงค์ของกิจกรรม โดย แนะนำ ส่งเสริม สนับสนุน หรือ ห้ามปราม 4. ผู้บังคับบัญชาฯ จะต้องมีใจรักในเรื่องการอยู่ค่ายพักแรมและมีความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาและหากิจกรรมเสริม เพิ่มเติม เพื่อพัฒนาลูกเสือ-เนตรนารีของตนอยู่เสมอ หลักการและเหตุผลของการอยู่ค่ายพักแรม 1. การอยู่ค่ายพักแรมเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดในการให้การฝึกอบรมลูกเสือ-เนตรนารี ลูกเสือ-เนตรนารีที่ไม่ได้เข้าค่ายพักแรม หรือ ไม่เคยปฏิบัติกิจกรรมการอยู่ค่ายพักแรมก็อาจถือได้ว่ายังไม่ได้เป็นลูกเสือ-เนตรนารีอย่างแท้จริง 2. ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ-เนตรนารี เป็นบุคคลสำคัญที่จะจัดตารางการฝึกอบรมลูกเสือ-เนตรนารีของตนเองเกี่ยวกับการอยูค่ายพักแรม 3. ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ-เนตรนารีต้องมองเห็นความสำคัญ คุณค่าของการอยู่ค่ายพักแรมอย่างแท้จริง จึงจะสามารถจัดขบวนการได้อย่างเหมาะสม 4. การอยู่ค่ายพักแรม มิใช่การแยกตัวเองออกไปจากสังคมเมือง หรือ การอยู่เป็นส่วนตัว แต่การอยู่ค่ายพักแรม คือ การสร้างประสบการณ์ของชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุขกับธรรมชาติ การปรับตัวเองเข้ากับพื้นที่เพื่อนลูกเสือ-เนตรนารี ตามขบวนการของลูกเสือ-เนตรนารี ผู้บังคับบัญชาฯ ควรมีความรู้และความเข้าใจกิจกรรมการอยู่ค่ายพักแรมเป็นอย่างดี 5. ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ-เนตรนารี เมื่อคิดว่าจะพาลูกเสือ-เนตรนารีของตนเข้าค่ายพักแรม ต้องคิดโครงการว่าจะทำสิ่งใดบ้าง 6. ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ-เนตรนารีต้องถามท่านเองว่า “จะไปอยู่ค่ายพักแรมทำไม” ถ้าท่านตอบไม่ได้ ท่านจะไม่ได้รับผลสำเร็จใด ๆ ในการไปเข้าค่ายพักแรมเลย ท่านอาจประสบปัญหายุ่งยากมากยิ่งขึ้น มาตรฐานของการอยู่ค่ายพักแรมต่ำลง กิจกรรมต่าง ๆ อาจไม่ได้เตรียมไว้เลย และในที่สุดความล้มเหลวก็เกิดขึ้น โดยที่ท่านต้องศูนย์เสีย ความสุขที่ได้รับ เสียเวลาอันมีค่ายิ่ง เสียเงิน เสียโอกาส รวมทั้งเสียความรู้สึกที่ดีต่อกิจกรรมการอยู่ค่ายพักแรมด้วย ผลที่ได้จากการอยู่ค่ายพักแรม 1. ได้มีโอกาสเรียนรู้ และรู้รักสมาชิกแต่ละบุคคลมากขึ้น จะช่วยในขบวนการเรียนรู้ได้ดี 2. เป็นการทดสอบความรู้ความสามารถของผู้บังคับบัญชาฯ ลูกเสือ-เนตรนารี ว่าจะทำหน้าที่ของตนได้ดีมากน้อยเพียงใด ประสบผลสำเร็จเพียงใด เพื่อหาโอกาสปรับปรุงแก้ไขในโอกาสต่อไป 3. ส่งผลให้ลูกเสือ-เนตรนารีได้รับการศึกษาวิชาพิเศษ ได้สร้างอุปนิสัยของการเป็นพลเมืองที่ดีให้กับสมาชิก จากการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ-เนตรนารี ต้องคิดเสมอว่า ในชีวิตนี้ ปัจจุบันนี้ โลกในยุคนี้ อาจเกิดเหตุการณ์วิกฤตต่าง ๆ เช่น การขาดอาหาร ขาดน้ำ ขาดไฟฟ้า หรือ ความสะดวกสบายบางอย่าง ที่มนุษย์ต้องการ กิจกรรมการอยู่ค่ายพักแรม เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ฝึกฝนในการดำรงชีวิตที่ดีกิจกรรมหนึ่ง องค์ประกอบสำคัญของกิจกรรมการอยู่ค่ายพักแรม 1. ผู้เข้าร่วมการอยู่ค่ายพักแรม (Campers) ได้แก่ ลูกเสือ-เนตรนารี ผู้บังคับบัญชาฯ และ อื่น ๆ 2. กิจกรรม (Programme) 3. งบประมาณ (Budget) ชนิดของการอยู่ค่ายพักแรม 1. การอยู่ค่ายพักแรมของลูกเสือสำรอง (Pack Holiday and Day Camps) เป็นกิจกรรมเฉพาะช่วงเวลาจำกัด จัดขึ้นเพื่อเด็กลูกเสือสำรอง เป็นการศึกษาทักษะการอยู่ค่ายเบื้องต้น 2. การอยู่ค่ายพักแรมของกองลูกเสือแต่ละประเภท (The Troop Camps) เป็นกิจกรรมอยู่ค่ายพักแรมที่มีลักษณะเด่นชัด เป็นรูปธรรมมากขึ้น มีรูปแบบการฝึกอบรม มีผู้ใหญ่คอยช่วยชี้แนะ โดย ปกติใช้เวลา 2 – 3 วัน หรือ อาจถึง 7 วัน 3. การอยู่ค่ายพักแรม โดยมีอุปกรณ์ขนาดเบา (The Lightweight Standing Camps) เป็นกิจกรรมพักแรมที่พัฒนามากขึ้น มีการศึกษาถึงกิจกรรมต่าง ๆ มีรูปแบบของการใช้ชีวิตในค่ายแบบง่าย ๆ เคลื่อนย้ายไปง่าย อาจมีกิจกรรมการเดินทางไกล โดยมีเครื่องหลังของตนเอง 4. การฝึกอบรมการอยู่ค่ายพักแรม (Patrol or Training Camps) เป็นการพัฒนาจากแบบที่ 2 – 3 โดยเฉพาะการทำงานเป็นหมู่ พวก (Team Work) เช่น การฝึกอบรมนายหมู่ ฯลฯ 5. การเดินทางไกลอยู่ค่ายพักแรมเฉพาะที่ หรือ เฉพาะกิจ (The Hide Camps) เป็นการพัฒนาทางธรรมชาติ ทั้งจากระบบหมู่ และประสบการณ์ของแต่ละบุคคล จะกระทำเป็นช่วงเวลา หรือ ระยะสั้น ๆ อาจนำไปสู่ การเดินทางไกลที่มีมาตรฐานสูงยิ่งขึ้น คือ วิชาพิเศษการเดินทางไกลและอยู่ค่ายพักแรม (Advanced Scout Standard Hike) 6. การพักแรมเป็นคณะร่วมกับสมาชิก (The Mobils Patrol Camps) มีลักษณะเช่นเดียวกับแบบที่ 2 อาจจะเรียกว่า ทัศนศึกษาก็ได้ การเดินทางอาจใช้ โดยเท้า เรือ จักรยาน รถยนต์ หรือ รถไฟ นายหมู่ หรือ ผู้นำ เป็นผู้นำการอยู่ค่ายพักแรม 7. การพักแรมเพื่อยังชีพ (The Suruival Camps) เป็นการอยู่ค่ายพักแรมเพื่อการเรียนรู้ และการสร้างประสบการณ์เพื่อการยังชีพไปด้วย เช่น การเรียนรู้ธรรมชาติ การประกอบอาหาร การสร้างที่พัก เป็นการส่งเสริมทักษะลูกเสือ-เนตรนารี ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น 8. การพักแรมพร้อมกับกิจกรรมที่ท้าทาย (The Expedition at Home or Aboad) หมายถึงการเดินทางเพื่อไปทำกิจกรรมที่ท้าทาย สนุกสนาน มากกว่าการอยู่ในค่ายพักแรมเพียงอย่างเดียว เช่น การไต่เขา แล่นเรือใบ หรือ อาจเป็นการเข้าค่ายเพื่อวัตถุประสงค์อย่างอื่น 9. งานชุมนุมนานาชาติ (International Camps) กิจกรรมการอยู่ค่ายพักแรมทั้ง 8 ชนิด อาจเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน เมื่ออยู่ในงานชุมนุมลูกเสือ จะจัดโดยคณะลูกเสือของประเทศใดประเทศหนึ่ง จึงใช้ชื่อ International Camps หรือ “World Scout Jamborees” หรือ Foreign National Camps หรือ International Scout Camps แล้วแต่สถาบัน หรือ คณะลูกเสือแห่งชาติของแต่ละประเทศเป็นผู้กำหนด |
วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเข้าค่ายพักแรม
การอยู่ค่ายพักแรม
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)